วันศุกร์ที่ 29 สิงหาคม พ.ศ. 2551

กติกาเปตอง


กติกาเปตอง

ขนาดสนาม
สนามต้องมีพื้นเรียบกว้าง 4 เมตร ยาว 15 เมตร พื้นไม้พื้นคอนกรีต และพื้นหญ้า ไม่เหมาะสำหรับกีฬาประเภทนี้

อุปกรณ์การเล่นเปตอง
1. ลูกบูล
เป็นลูกทรงกลมด้านนกลวง ทำด้วยโลหะ มีเส้นผ่าศูนย์กลางระหว่าง 70.5-80 มิลลิเมตร มีน้ำหนักระหว่าง 650 – 800 กรัม มีเครื่องหมายของโรงงานผู้ผลิต ตัวเลขแสดงน้ำหนักและเลขรหัสปรากฏอยู่บนลูกบูลอย่างชัดเจน และควรเป็นลูกบูลที่ได้รับการรับรองจากสหพันธ์เปตองนานาชาติและสมาคมเปตองแห่งประเทศไทยในพระราชูปถัมภ์สมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี
2. ลูกเป้า
เป็นลูกทรงกลม แต่ทำด้วยไม้หรือวัสดุสังเคราะห์ มีเส้นผ่าศูนย์กลางระหว่าง 25-35 มิลลิเมตร และอาจทาสีได้ แต่ต้องเป็นสีที่สามารถมองเห็นได้ชัดเจนในขอบเขตของสนาม
3. สนามเล่น
สนามต้องพื้นเรียบกว้าง 4 เมตร ยาว 15 เมตร พื้นไม้ พื้นคอนกรีตและพื้นหญ้า ไม่เหมาะสมสำหรับกีฬาประเภทนี้
4. เทปสายวัด

หลักการทั่วไป
ข้อ 1.
เปตองเป็นกีฬาที่เล่นโดยมีผู้เล่น 2 ฝ่าย และแบ่งการเล่นออกได้ดังนี้
- ผู้เล่นฝ่ายละ 3 คน (Triples)
- ผู้เล่นฝ่ายละ 2 คน (Doubles)
- ผู้เล่นฝ่ายละ 1 คน (Single)
1.1 ในการเล่นฝ่ายละ 3 คน ผู้เล่นแต่ละคนต้องมีลูกเปตองคนละ 2 ลูก
1.2 ในการเล่นฝ่ายละ 2 คน ผู้เล่นแต่ละคนต้องมีลูกเปตองคนละ 3 ลูก
1.3 ในการเล่นฝ่ายละ 1 คน ผู้เล่นแต่ละคนต้องมีลูกเปตองคนละ 3 ลูก
1.4 ห้ามจัดให้มีการเล่นนอกเหนือจากกฎที่ได้กำหนดไว้ในข้อ 1 นี้

ข้อ 2
ลูกเปตองที่ใช้เล่นต้องได้รับการรับรองจากสหพันธ์เปตองนานาชาติหรือสมาคมเปตองแห่งประเทศไทยในพระราชูปถัมภ์สมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี และต้องมีลักษณะดังต่อไปนี้
ก. เป็นโลหะ
ข. มีเส้นผ่าศูนย์กลางระหว่าง 7.05 – 8.00 เซนติเมตร (70.5 – 80 มิลลิเมตร)
ค. มีน้ำหนักระหว่าง 650 – 800 กรัม จะต้องมีเครื่องหมายของโรงงานผู้ผลิต ตัวเลขแสดงน้ำหนัก และเลขรหัสปรากฏบนลูกเปตองอย่างชัดเจน
ง. เป็นลูกเปตองที่ผลิตจากโรงงานที่ได้รับการรับรองจากสหพันธ์ฯ และห้ามเปลี่ยนแปลงสภาพเดิม ไม่ว่าจะใช้ตะกั่วบัดกรีหรือนำเอาดินหรือทรายมาติด หรือใส่ลงไปในลูก เปตองในลักษณะที่มีเจตนาส่อไปในทางทุจริต แต่อนุญาตให้เจ้าของสลักชื่อ หรือเครื่องหมายบนลูกเปตองได้
2.1 ผู้เล่นที่ฝ่าฝืนหรือละเมิดกฎข้อ 2. (ง) จะถูกลงโทษให้ออกจากการแข่งขัน
2.2 ลูกเปตองที่เปลี่ยนแปลงสภาพเดิม ผู้กระทำผิผดจะถูกลงโทษดังนี้
ก. กรณีปลอมแปลงลูกเปตองผู้กระทำผิดจะต้องถูกถอนใบอนุญาต (บัตรประจำตัวนักกีฬา) 15 ปี และอาจถูกลงโทษจากคณะกรรมการวินัยอีกด้วย
ข. กรณีใช้ความร้อนเพื่อดัดแปลงสภาพของลูกเปตอง ผู้กระทำผิดจะถูกถอนใบอนุญาต (บัตรประจำตัวนักกีฬา) 15 ปี และห้ามเข้าทำการแข่งขันชิงชนะเลิศแห่งชาติ และนานาชาติเป็นระยะเวลา 3 -5 ปี
2.3 กรณีหนึ่งกรณีใดที่ได้ระบุไว้ในข้อ 2.2 (ก) และ (ข) ถ้าผู้เล่นได้ยืมลูกเปตองจากผู้อื่นมาเล่น เจ้าของเปตองผู้ให้ยืมจะถูกลงโทษภาคทัณฑ์เป็นระยะเวลา 2 ปี
2.4 ถ้าลูกเปตองนั้นมิได้ถูกกระทำทุจริตแต่เนื่องจากลูกเปตองนั้นเก่ามากหรือมีการผิดพลาดจากโรงงานผู้ผลิตและเมื่อตรวจสอบแล้วไม่ได้ลักษณะตามที่กำหนดไว้ในข้อ 2. (ก) (ข) และ (ค) จะต้องเปลี่ยนแปลงลูกเปตองนั้นทันทีและอาจเปลี่ยนแปลงเกมการเล่นใหม่
2.5 เพื่อประโยชน์ของฝ่ายตน ก่อนทำการแข่งขันทุกครั้งผู้เล่นทั้งสองฝ่ายควรตรวจสอบลูกเปตองของตนและฝ่ายตรงกันข้ามให้ถูกต้องตามเงื่อนไขที่ได้กำหนดไว้ในข้อ 2. (ก) (ข) และ (ค)
2.6 ในกรณีที่มีการผ่าลูกเปตองเพื่อตรวจสอบ ถ้าลูกเปตองนั้นมิได้ถูกกระทำการทุจริต ฝ่ายประท้วงจะต้องรับผิดชอบชดใช้ หรือเปลี่ยนแปลงลูกเปตองนั้นให้แก่ฝ่ายประท้วงจะต้องรับผิดชอบชดใช้ หรือเปลี่ยนแปลงลูกเปตองนั้นให้แก่ฝ่ายเสียหายและเจ้าของเปตองไม่มีสิทธิ์ที่จะเรียกร้องค่าเสียหายใด ๆ อีก
2.7 ในระหว่างการแข่งขัน ผู้ตัดสินและกรรมการชี้ขาดอาจตรวจสอบลูกเปตองของผู้เล่นทุกคนได้ทุกเวลา
2.8 การประท้วงของนักกีฬาว่าด้วยเรื่องการตรวจสอบลูกเปตองจะกระทำได้ในระหว่างการเล่น 2 เที่ยวแรกเท่านั้น
2.9 หลังจากการเล่นเที่ยวที่ 3 แล้ว ถ้ามีการประท้วงเกี่ยวกับลูกเปตองของฝ่ายตรงกันข้าม เมื่อตรวจสอบแล้วพบว่าลูกเปตองนั้นไม่ผิดกติกาแต่อย่างใด ฝ่ายที่ประท้วงจะถูกปรับ 3 คะแนน โดยนำไปเพิ่มในป้ายคะแนนฝ่ายตรงกันข้าม
2.10 ลูกเปตองต้องทำด้วยไม้หรือวัสดุสังเคราะห์ มีเส้นผ่าศูนย์กลางระหว่าง 25-35 มิลลิเมตร และอาจทาสีได้ แต่ต้องเป็นสีที่สามารถมองเห็นได้ชัดเจนในขอบเขตของสนาม

ข้อ 3
ก่อนการเริ่มการแข่งขัน หากกรรมการผู้ตัดสินหรือผู้เล่นฝ่ายตรงกันข้ามขอตรวจสอบใบอนุญาต (บัตรประจำตัวนักกีฬา) ผู้เล่นนั้น ๆ จะต้องแสดงให้ดูทันที ใบอนุญาต (บัตรประจำตัวนักกีฬา) ทุกประเภทต้องออกโดยสนามเปตองแห่งประเทศไทยฯ มีรูปถ่ายขนาด 1 นิ้ว มีลายมือชื่อของผู้ถือบัตร และต้องมีตราของชมรมหรือสมาคมนั้น ๆ ประทับคาบอยู่บนรูปถ่ายด้วย

ข้อ 4
ห้ามผู้เล่นทุกคนเปลี่ยนลูกเป้าหรือลูกเปตองในระหว่างการแข่งขันเว้นแต่ในกรณี ดังนี้
4.1 ลูกเป้าหรือลูกเปตอง หาไม่พบ (กำหนดเวลาในการค้นหา 5 นาที)
4.2 ถ้าลูกเปตองหนึ่งแตกเป็น 2 ชิ้น หรือหลายชิ้น ให้ปฏิบัติตามกฎข้อย่อยดังนี้
ก. ถ้าหมดลูกเปตองเล่นแล้ว ให้นับคะแนนจากชิ้นที่ใหญ่ที่สุด
ข. ถ้ายังมีลูกเปตองเหลือเล่นอยู่ ให้นำลูกเปตองอื่นที่มีลักษณะใกล้เคียงกันมาเปลี่ยนทันทีโดยให้นำมาวางแทนที่ตำแหน่งชิ้นใหญ่ที่สุดของลูกเปตองที่แตกนั้นเล่นต่อไปตามปกติ กฎข้อ 4.2 นี้ให้ใช้กับลูกเป้าด้วย




วิธีการเล่น
ข้อ 5.
เปตองเป็นกีฬาที่เล่นได้กับสนามทุกสภาพ ยกเว้นพื้นคอนกรีตพื้นไม้ และพื้นดินที่มีหญ้าขึ้นสูง โดยมีคณะกรรมการจัดการแข่งขันหรือผู้ตัดสินเป็นผู้กำหนด ผู้เล่นทุกทีมต้องเล่นในสนามที่กำหนดให้สำหรับการแข่งขันชิงชนะเลิศระดับชาติและนานาชาติสนามต้องมีขนาดกว้าง 4 เมตร ยาว 15 เมตร เป็นอย่างน้อย
5.1 ส่วนการแข่งขันอื่น ๆ สมาคมฯ อาจอนุโลมให้เปลี่ยนแปลงขนาดของสนามได้ตามความจำเป็นและความเหมาะสมแต่ต้องมีขนาดกว้าง 3.50 เมตร และยาว 13 เมตร เป็นอย่างน้อย
5.2 เกมหนึ่งกำหนดให้ใช้ 13 คะแนน สำหรับการแข่งขันในรอบแรกและรอบต่อ ๆ ไป (จะใช้เพียง 11 คะแนนก็ได้) สำหรับชิงชนะเลิศในระดับนานาชาติหรือแห่งชาติให้ใช้ 15 คะแนน

ข้อ 6
ผู้เล่นทุกคนต้องลงสู่สนามแข่งขันตามเวลาที่กำหนดให้และทำการเสี่ยงว่าฝ่ายใดจะเป็นฝ่ายโยนลูกเป้า
6.1 ผู้เล่นคนหนึ่งคนใดในทีมซึ่งเป็นฝ่ายชนะในการเสี่ยงเป็นผู้โยนลูกเป้าเมื่อเลือกจุกเริ่มแล้วให้เขียนวงกลมบนพื้นมีขนาดพอที่เท้าทั้งสองข้างเข้าไปยืนอยู่ได้ (เส้นผ่าศูนย์กลาง ระหว่าง 0.35-0.50 เมตร) วงกลมนั้นจะต้องห่างจากสิ่งกีดขวางต่าง ๆ และเส้นสนามไม่น้อยกว่า 1 เมตร สำหรับการแข่งขันในสภาพสนามที่ไม่มีขอบเขตของสนามให้เขียนวงกลมห่างจากวงกลมของสนามอื่นไม่น้อยกว่า 2 เมตร
6.2 ผู้ที่เตรียมเล่นจะต้องอยู่ภายในวงกลมห้ามเหยียบเส้นรอบวง ห้ามยกเท้าพ้นพื้น และห้ามออกจากวงกลมก่อนที่ลูกเปตองจะตกลงพื้นส่วนอื่นร่างกายจะถูกพื้นนอกวงกลมไม่ได้เว้นแต่คนขาพิการซึ่งได้รับอนุญาตเป็นกรณีพิเศษให้วางเท้าข้างเดียวในวงกลมได้ ส่วนนักกีฬาพิการที่ต้องนั่งรถเข็นให้ขีดวงกลมรอบล้อรถเข็นได้และที่วางเท้าของรถเข็นต้องให้อยู่สูงเหนือขอบวงกลม
6.3 ผู้เล่นคนหนึ่งคนใดในทีมซึ่งเป็นผู้โยนลูกเป้า ไม่บังคับว่าจะต้องเป็นผู้โยนลูกเปตองลูกแรกเสมอไป
6.4 ในกรณีที่สนามไม่ดี (ชำรุด) ห้ามผู้เล่นตกลงกันเองแข่งขันสนามอื่นโดยไม่ได้รับอนุญาตจากผู้ตัดสิน

ข้อ 7.
ลูกเป้าที่โยนไปแล้วถือว่าดีต้องมีกฎเกณฑ์ ดังนี้
7.1 มีระยะห่างระหว่างขอบวงกลมด้านใกล้ที่สุดถึงลูกเป้า
ก. ไม่น้อยกว่า 4 เมตร และไม่เกิน 8 เมตร สำหรับเด็กเล็ก (อายุไม่เกิน 12 ปี)
ข. ไม่น้อยกว่า 5 เมตร และไม่เกิน 9 เมตร สำหรับเด็กเล็ก (อายุไม่เกิน 13- 14 ปี)
ค. ไม่น้อยกว่า 6 เมตร และไม่เกิน 10 เมตร สำหรับเยาวชน (อายุไม่เกิน 15- 17 ปี)
ง. ไม่น้อยกว่า 6 เมตร และไม่เกิน 10 เมตร สำหรับผู้ใหญ่ (ไม่จำกัดอายุ)
7.2 วงกลมต้องอยู่ห่างจากสิ่งกีดขวางต่าง ๆ และเส้นเขตสนามหรือเส้นฟาล์วไม่น้อยกว่า 1 เมตร
7.3 ตำแหน่งลูกเป้าต้องอยู่ห่างจากสิ่งกีดขวางต่าง ๆ และเส้นเขตสนามไม่น้อยกว่า 1 เมตร
7.4 ลูกเป้าจะต้องอยู่ในตำแหน่งที่มองเห็นได้อย่างชัดเจน ขณะยืนตัวตรงอยู่ในวงกลม (ถ้ามีการโต้แย้งในกรณีนี้ให้ผู้ตัดสินเป็นผู้ชี้ขาด)
7.5 การโยนลูกเป้าในเที่ยวต่อ ๆ ไป ให้เขียนวงกลมรอบตำแหน่งลูกเป้าที่อยู่ในเที่ยวที่แล้วเว้นแต่กรณีดังนี้
ก. วงกลมมีระยะห่างจากสิ่งกีดขวางและเส้นสนามน้อยกว่า 1 เมตร ในกรณีนี้ ผู้เล่นต้องเขียนวงกลมให้ห่างจากสิ่งกีดขวางและเส้นเขตสนามที่กติกาได้กำหนดไว้
ข. โยนลูกเป้าไม่ได้ระยะตามที่กติกากำหนดไว้ แม้จะโยนไปในทิศทางใดก็ตาม กรณีนี้ผู้เล่นสามารถถอยหลังได้ตามแนวตรง (ตั้งฉาก) จากตำแหน่งเดิมของลูกเป้าในเที่ยวที่แล้ว แต่ทั้งนี้วงกลมนั้นจะถอยหลังได้ไม่เกินระยะการโยน ตามที่กติกากำหนดไว้โดยให้นับจากเส้นฟาล์ว (Dead Bal Line) ด้านบนจนถึงเส้นขอบวงกลมด้านใกล้สุด
- (ถ้าไม่มีเส้นฟาล์ว ให้นับจากเส้นสนามด้านบนจนถึงขอบวงกลม ไม่เกิน 11 เมตร)
ค. ลูกเป้าที่อยู่ในระยะการโยนหรือเล่นได้ แต่ผู้เล่นฝ่ายที่มีสิทธิ์โยนลูกเป้าไม่ประสงค์จะเล่นในระยะนั้น ๆ กรณีนี้ผู้เล่นสามารถถอยหลังตามแนวตรง (ตั้งฉาก) จากตำแหน่งจากเดิมของลูกเป้าในเที่ยวที่แล้วได้ตามความพอใจ แต่ทั้งนี้วงกลมนั้นจะถอยหลังได้ไม่เกินระยะการโยน ตามที่กติกากำหนดไว้โดยให้นับจากเส้นฟาว์ล (Dead Bal Line) ด้านบนจนถึงเส้นขอบวงกลมด้านใกล้สุด
- (ถ้าไม่มีเส้นฟาล์ว ให้นับจากเส้นสนามด้านบนจนถึงขอบวงกลม ไม่เกิน 11 เมตร)
ง. ผู้เล่นฝ่ายเดียวกันโยนลูกเป้าไปแล้ว 3 ครั้ง ยังไม่ได้ดีตามกติกากำหนดจะต้องเปลี่ยนให้ผู้เล่นฝ่ายตรงกันข้ามเป็นผู้โยนซึ่งมีสิทธิ์โยนได้ 3 ครั้ง เช่นเดียวกัน และอาจย้ายวงกลมถอยหลังได้ตามแนวตรง (ตั้งฉาก) แต่ทั้งนี้วงกลมนั้นจะถอยหลังได้ไม่เกินระยะการโยน ตามที่กติกากำหนดไว้โดยให้นับจากเส้นฟาล์ว (Dead Bal Line) ด้านบนจนถึงเส้นขอบวงกลมด้านใกล้สุด (ถ้าไม่มีเส้นฟาล์วให้นับจากเส้นสนามด้านบนจนถึงขอบวงกลม ไม่เกิน 11 เมตร) วงกลมที่เขียนขึ้นใหม่นั้นจะเปลี่ยนแปลงอีกไม่ได้ แม้ว่าผู้เล่นของทีมหลังนี้จะโยนลูกเป้าไม่ดีทั้ง 3 ครั้ง ก็ตาม
จ. ถึงแม้ทีมที่โยนลูกเป้า 3 ครั้งแรกโยนได้ไม่ดีตามที่กติกากำหนดก็ตาม แต่ทีมที่โยนลูกเป้าครั้งแรกนั้นยังมีสิทธิ์เป็นฝ่ายโยนลูกเปตองลูกแรกอยู่

ข้อ 8.
ลูกเป้าที่โยนไปแล้วถูกผู้ตัดสิน ผู้เล่น ผู้ดู สัตว์หรือสิ่งที่เคลื่อนที่อื่น ๆ แล้วหยุด ให้นำมาโยนใหม่โดยไม่นับรวมอยู่ในการโยน 3 ครั้งที่ได้กำหนดไว้
8.1 หลังจากการโยนลูกเป้าและลูกเปตองลูกแรกไปแล้วฝ่ายตรงกันข้ามยังมีสิทธิ์ประท้วงว่าด้วยตำแหน่งของลูกเป้านั้นได้ ให้เริ่มโยนและลูกเปตองใหม่
8.2 ถ้าฝ่ายตรงกันข้ามได้โยนลูกเปตองไปด้วยแล้ว 1 ลูก ให้ถือว่าตำแหน่งลูกเป้านั้นดี และไม่มีสิทธิ์ประท้วงใด ๆ ทั้งสิ้น

ข้อ 9.
ลูกเป้าที่โยนไปแล้วถือว่าฟาล์ว มี 5 กรณีดังนี้
9.1 เมื่อลูกเป้าที่โยนไปแล้วไม่ได้ตำแหน่งที่ถูกต้องตามที่กำหนดไว้ในข้อ 7
9.2 เมื่อลูกเป้าเคลื่อนที่ออกนอกเส้นฟาล์ว แต่ลูกเป้าคาบเส้นยังถือว่าดี ลูกเป้าที่ถือว่าฟาล์ว คือลูกเป้าที่ออกเส้นฟาล์วเท่านั้น
9.3 เมื่อลูกเป้าเคลื่อนที่ไปแล้ว ผู้เล่นไม่สามารถมองเห็นจากวงกลมตามที่กำหนดไว้ในข้อ 7.4 แต่ถ้าลูกเป้าถูกลูกเปตองบังอยู่ไม่ถือว่าฟาล์ว ทั้งผู้ตัดสินมีสิทธิ์ที่จะยกลูกเปตองที่บังอยู่ออกชั่วคราวเพื่อตรวจสอบว่า ลูกเป้านั้นมองเห็นได้ชัดเจนหรือไม่
9.4 เมื่อลูกเป้าเคลื่อนที่ไป มีระยะห่างจากวงกลมเกินกว่า 20 เมตร หรือน้อยกว่า 3 เมตร
9.5 เมื่อลูกเป้าเคลื่อนที่ไปแล้ว หาไม่พบภายใน 5 นาที

ข้อ 10.
ก่อนหรือหลังการโยนลูกเป้า ห้ามผู้เล่นปรับพื้นที่หรือเคลื่อนย้ายสิ่งต่าง ๆ เช่น กรวด หิน ดิน ทราย ใบไม้ ฯลฯ ในบริเวณสนามแข่งขันโดยเด็ดขาด เว้นแต่ผู้เตรียมตัวจะลงเล่นเท่านั้นที่มีสิทธิ์ปรับสนามที่มีหลุมซึ่งเกิดจากการโยนลูกเปตองของผู้เล่นคนที่แล้ว และอาจใช้ลูกเปตองปรับหลุมนั้นได้ไม่เกิน 3 ครั้ง ผู้เล่นที่ฝ่าฝืนกฎต้องลงโทษดังนี้
10.1 ถูกเตือน
10.2 ปรับลูกที่เล่นไปแล้วหรือลูกที่กำลังจะเล่นเป็นลูกฟาล์ว
10.3 ปรับเฉพาะผู้กระทำผิด ให้งดเล่น 1 เที่ยว
10.4 ปรับเป็นแพ้ทั้งทีม
10.5 ปรับให้แพ้ทั้ง 2 ทีม ถ้ากระทำผิดเหมือนกัน หรือสมรู้ร่วมคิดกัน

ข้อ 11.
ในระหว่างการเล่นแต่ละเที่ยว หากมีใบไม้ กระดาษหรือสิ่งอื่น ๆ มาบังลูกเป้าโดยบังเอิญให้เอาออกได้
11.1 เมื่อลูกเป้าหยุดนิ่งแล้วและเคลื่อนที่ไปใหม่โดยแรงลมพัดหรือจากการลาดเอียงของพื้นสนาม จะต้องนำกลับมาวางที่ตำแหน่งเดิม
11.2 เมื่อลูกเป้าเคลื่อนที่โดยอุบัติเหตุอันเกิดขึ้นจากผู้ตัดสิน ผู้ดู สัตว์ สิ่งเคลื่อนที่อื่น ๆ รวมทั้งลูกเป้าหรือลูกเปตองที่เคลื่อนที่มาจากสนามอื่นให้นำลูกเป้านั้นมาวางที่ตำแหน่งเดิม ทั้งนี้ต้องเครื่องหมายกำหนดจุดเดิมของลูกเป้า
11.3 เพื่อหลีกเลี่ยงการประท้วงทั้งปวง ผู้เล่นควรทำเครื่องหมายบนพื้นสนามตามตำแหน่งของลูกเป้าหรือลูกเปตองไว้มิฉะนั้นจะไม่มีสิทธิ์ประท้วงใด ๆ ทั้งสิ้น
11.4 ลูกเป้าที่อยู่บนพื้นสนามซึ่งมีน้ำขังอยู่ถือว่าดี หากลูกเป้านั้นยังไม่ลอยน้ำ

ข้อ 12.
ในระหว่างการเล่นแต่ละเที่ยวหากลูกเป้าเคลื่อนที่ไปอยู่อีกสนามหนึ่ง ให้ถือว่าลูกเป้านั้นยังดีอยู่
12.1 ถ้าสนามนั้นมีการแข่งขันอยู่ ฝ่ายที่ต้องใช้ลูกเป้านั้นจะต้องหยุดรอเพื่อคอยให้ผู้เล่นที่กำลังเล่นอยู่ในสนามนั้นเล่นจบก่อน
12.2 ผู้เล่นที่มีปัญหาตามข้อ 12.1 จะต้องแสดงออกถึงความมีน้ำใจ ความอดทน และความเอื้ออารีต่อกัน

ข้อ 13.
ในระหว่างการเล่นแต่ละเที่ยว ถ้าลูกเป้าเกิดฟาล์วให้ปฏิบัติตามกฎข้อย่อยดังนี้
13.1 ถ้าผู้เล่นทั้งสองฝ่ายมีลูกเปตองเหลืออยู่ การเล่นเที่ยวนั้นถือว่าโมฆะ ต้องเริ่มเล่นใหม่ที่ด้านตรงข้าม
13.2 ถ้าฝ่ายหนึ่งฝ่ายใดมีลูกเปตองเหลืออยู่เพียงฝ่ายเดียวฝ่ายนั้นจะได้คะแนนเท่ากับจำนวนลูกเปตองที่เหลืออยู่โดยไม่ต้องเล่นและจะเริ่มเล่นใหม่ที่ด้านตรงข้าม
13.3 ถ้าทั้งสองฝ่ายหมดลูกเปตองเหมือนกัน ให้เริ่มเล่นใหม่ที่ด้านตรงข้ามโดยให้ทีมที่คะแนนเที่ยวที่เป็นฝ่ายโยนลูกเป้า

ข้อ 14.
ลูกเป้าที่ถูกยิงแล้วเคลื่อนที่ไปจากตำแหน่งเดิม
14.1 ถ้าลูกเป้าที่ยิงแล้วเคลื่อนที่ไปถูกผู้ดูหรือผู้ตัดสินแล้วหยุด ให้ลูกเป้านั้นอยู่ในตำแหน่งใหม่
14.2 ถ้าลูกเป้าที่ยิงแล้วเคลื่อนที่ไปถูกผู้เล่นคนหนึ่งคนใดแล้วหยุด ฝ่ายตรงข้ามที่ทำให้ลูกเป้าหยุด มีสิทธิ์เลือกปฏิบัติตามกฎข้อย่อยดังนี้
ก. ให้ลูกเป้าอยู่ในตำแหน่งใหม่
ข. นำลูกเป้ามาวางที่ตำแหน่งเดิม
ค. วางลูกเป้าตามแนวยาวระหว่างตำแหน่งเดิมกับตำแหน่งใหม่แต่ต้องอยู่ใหม่แต่ ต้องอยู่ในพื้นที่ที่กำหนดไว้ในกติกาแล้วเริ่มเล่นต่อไปตามปกติ
14.3 กรณีตามข้อ 14.2 (ข) และ (ค) จะกระทำได้ต่อเมื่อผู้เล่นได้ทำเครื่องหมายที่ตำแหน่งลูกเป้าไว้เท่านั้น มิฉะนั้นจะต้องให้ลูกเป้าอยู่ในตำแหน่งใหม่

ข้อ 15.
ในระหว่างการเล่นแต่ละเที่ยวหากลูกเป้าเคลื่อนที่ไปอยู่ในสนามอื่นถือว่ายังดีอยู่ ในเที่ยวต่อไปจะต้องมาเล่นที่สนามเดิมด้านตรงกันข้าม แต่ต้องเป็นไปตามที่กำหนดไว้ในกติกาข้อ 7.

ลูกเปตอง

ข้อ 16.
ผู้เล่นคนหนึ่งคนใดในทีมที่ชนะในการเสี่ยงหรือชนะในเที่ยวที่แล้วเป็นผู้โยนลูกเป้า และลูกเปตองลูกแรก
16.1 ห้ามผู้เล่นใช้เครื่องช่วยอื่นใดหรือแม้แต่ขีดเส้นบนพื้นสนามเพื่อเป็นที่สังเกตจุดตกของลูกเปตองที่ตนจะโยนและไม่อนุญาตให้ผู้เล่นถือเปตองหรือสิ่งอื่นในมืออีกข้างหนึ่งในขณะที่โดยลูกเปตองลูกสุดท้ายของตน (ยกเว้นผ้าเช็ดลูกเปตอง)
16.2 ห้ามทำให้ลูกเปตองหรือลูกเป้าเปียกน้ำ (ยกเว้นกรณีฝนตก)
16.3 ถ้าลูกเปตองลูกแรกที่เล่นไปแล้วเกิดฟาล์ว ต้องเปลี่ยนให้ผู้เล่นฝ่ายตรงข้ามเป็นผู้เล่น และถ้าลูกที่โยนไปยังฟาล์วอยู่จะสลับกันโยนฝ่ายละ 1 ลูก จนกว่าฝ่ายหนึ่งฝ่ายใดจะโยนลูกเปตองได้ดีแล้วจึงเล่นต่อไปตามปกติ
16.4 ฝ่ายใดที่ทำให้ลูกเปตองในสนามฟาล์วทั้งหมดโดยไม่มีลูกเปตองเหลืออยู่ในสนาม ฝ่ายที่ทำให้ลูกเปตองฟาล์วจะต้องเป็นฝ่ายเล่นลูกต่อไป ทั้งนี้หากมีปัญหาทำให้ใช้กติกาข้อ 2.9 เป็นหลัก

ข้อ 17.
เมื่อผู้เล่นคนหนึ่งคนใดเข้าไปยืนอยู่ในวงกลมเพื่อเตรียมเล่นแล้ว ผู้ดูและนักกีฬาทุกคนต้องอยู่ในความสงบ
17.1 ห้ามผู้เล่นฝ่ายตรงกันข้ามเดินหรือแสดงท่าทางอย่างหนึ่งอย่างใดที่เป็นการรบกวนสมาธิของผู้ที่กำลังเล่น เว้นแต่ผู้ร่วมทีมเท่านั้นที่มีสิทธิ์เข้าไปอยู่ในสนามเพื่อแนะแนวทางการโยนลูกเปตองของฝ่ายตนได้
17.2 ผู้เล่นฝ่ายตรงกันข้ามจะต้องยืนอยู่ด้านข้างหรือด้านหลังของผู้เตรียมเล่น และจะต้องอยู่ห่างไม่น้อยกว่า 2 เมตร
17.3 ผู้เล่นที่ฝ่าฝืนกฎข้อ 17. ผู้ตัดสินจะต้องเตือนก่อน 1 ครั้งและถ้ามีการฝ่าฝืนซ้ำอีกผู้ตัดสินอาจพิจารณาให้ออกจากการแข่งขันก็ได้

ข้อ 18.
ลูกเปตองทุกลูกที่โยนไปแล้วห้ามนำโยนใส่ใหม่ เว้นแต่ลูกเปตองที่โยนไปแล้วถูกหยุดหรือเปลี่ยนทิศทางโดยบังเอิญ เนื่องจากถูกลูกเปตองหรือลูกเป้าซึ่งเคลื่อนที่มาจากสนามอื่นหรือถูกสัตว์หรือสิ่งเคลื่อนที่อื่น ๆ กรณีนี้ให้นำลูกเปตองในระหว่างการแข่งขัน
18.1 ห้ามทดลองโยนลูกเปตองในระหว่างการแข่งขัน
18.2 เมื่อคณะกรรมการจัดการแข่งขันได้กำหนดเส้นเขตสนามแต่ละสนามเรียบร้อยแล้ว ผู้เล่นแต่ละทีมจะต้องลงทำการแข่งขันในสนามที่กำหนดให้ ในระหว่างการเล่นหากลูกเปตองออกนอกเส้นสนามให้ถือว่ายังดีอยู่ (เว้นแต่ที่ได้กำหนดไว้ในข้อ 19.)
18.3 ในกรณีที่สนามแข่งขันทั้งหมดมีขอบกั้นอยู่ ขอบกั้นนั้นจะต้องอยู่รอบเส้นฟาล์ว และจะต้องห่างกันไม่น้อยกว่า 0.30 เมตร
18.4 เส้นฟาล์วจะต้องอยู่รอบนอกเส้นเขตสนามและจะต้องห่างกัน 1 เมตร เป็นอย่างน้อย และไม่เกิน 4 เมตร เป็นอย่างมาก
ข้อ 19.
ลูกเปตองทุกลูกที่กลิ้งผ่านเส้นฟาล์วและย้อนกลับเข้ามาในสนามถือว่าเป็นลูกฟาล์วแต่ถ้า เปตองทับอยู่บนเส้นฟาล์วยังไม่ผ่านเลยออกไปให้ถือว่าเป็นลูกดีอยู่ ลูกจะฟาล์วก็ต่อเมื่อได้ผ่านพ้นเส้นเขตสนามและเส้นฟาล์วออกไปทั้งลูก
19.1 ถ้าลูกเปตองผ่านพ้นเส้นฟาล์วและไปกระทบสิ่งใดสิ่งหนึ่งหรือจากความลาดเอียงของพื้นทำให้ลูกเปตองนั้นย้อนกลับเข้ามาในสนามอีกถือว่าเป็นการลูกฟาล์ว และทุกสิ่งเคลื่อนที่โดยลูกเปตองที่ฟาล์วนั้นให้กลับมาวางที่ตำแหน่งเดิมทั้งหมด ส่วนสิ่งของไม่ได้อยู่ในการเล่นให้เอาออกจากสนามทันที
19.2 ลูกเปตองที่ฟาล์วแล้ว ต้องนำออกจากสนามทันที มิฉะนั้นจะถือว่าเป็นลูกดีหลังจากการโยนลูกเปตองอีกลูกหนึ่งไปแล้ว

ข้อ 20.
ลูกเปตองที่โยนไปแล้วถูกทำให้หยุด ให้ปฏิบัติตามกฎข้อย่อยดังนี้
20.1 โดยผู้ดูหรือผู้ตัดสินให้เปตองนั้นอยู่ในตำแหน่งที่ถูกทำให้หยุด
20.2 โดยผู้เล่นฝ่ายเดียวกัน ถือว่าเป็นลูกฟาล์ว
20.3 โดยผู้เล่นฝ่ายตรงกันข้าม ฝ่ายผู้เล่นจะโยนใหม่ หรือรักษาตำแหน่งที่ลูกเปตองนั้นหยุดก็ได้
20.4 เมื่อลูกเปตองที่ถูกยิงไปแล้วทำให้หยุดโดยผู้เล่นคนหนึ่ง ผู้เล่นฝ่ายตรงกันข้ามของผู้ที่ทำให้ลูกเปตองนั้นหยุด อาจเลือกเล่นตามกฎข้อย่อยดังนี้
ก. ให้ลูกเปตองนั้นอยู่ในตำแหน่งที่ถูกทำให้หยุด
ข. ให้นำลูกเปตองนั้นมาวางตามแนวตรงระหว่างตำแหน่งเดิมกับตำแหน่งใหม่ตามความพอใจแต่ต้องเป็นตำแหน่งที่สามารถเล่นต่อไปและได้ทำเครื่องหมายไว้ก่อนเท่านั้น
ค. ผู้เล่นที่มีเจตนาทำให้ลูกเปตองที่เคลื่อนที่หยุดจะถูกปรับให้แพ้ทั้งทีมทันที

ข้อ 21.
เมื่อโยนลูกเปตองหรือลูกเป้าไปแล้ว ผู้เล่นทุกคนมีเวลาสำหรับโยนลูกเปตองภายใน 1 นาที โดยเริ่มจับเวลาตั้งแต่ลูกเป้าหรือลูกเปตองที่เล่นไปแล้วหยุด หากมีการวัดเกิดขึ้น ให้เริ่มจับเวลาเมื่อการวัดนั้นเสร็จสิ้นลง
21.1 กฎกำหนดเวลานี้ให้ใช้สำหรับการโยนลูกเป้าทุกครั้งด้วย
21.2 ผู้เล่นที่ไม่ปฏิบัติตามกฎกำหนดเวลานี้ จะถูกลงโทษตามที่ได้กำหนดไว้ในข้อ 10.
ข้อ 22.
ถ้าลูกเปตองลูกหนึ่งหยุดนิ่งแล้วเคลื่อนที่ไปใหม่ เนื่องจากถูกลมพัดหรือเนื่องจากความ ลาดเอียงของสนามจะต้องนำลูกเปตองนั้นมาวางไว้ที่ตำแหน่งเดิมสำหรับลูกเปตองที่เคลื่อนที่โดยอุบัติเหตุจากผู้เล่น ผู้ดู สัตว์ สิ่งที่เคลื่อนที่อื่น ๆ ก็จะต้องนำมากลับมาวางที่ตำแหน่งเดิมเช่นเดียวกันเพื่อหลีกเลี่ยงการประท้วงทั้งปวง ผู้เล่นทุกคนควรทำเครื่องหมายตามตำแหน่งลูกเป้าและลูกเปตองไว้ทั้งหมด

ข้อ 23.
ผู้เล่นที่นำลูกของผู้อื่นไปเล่นจะถูกเตือน 1 ครั้ง และลูกเปตองที่เล่นไปนั้นยังคงถือว่าเป็นลูกดี และต้องนำมาลูกเปตองของตนไปเปลี่ยนแทนที่ตำแหน่งทันทีเมื่อการวัดได้สิ้นสุดลง
23.1 ถ้ามีการกระทำผิดซ้ำในเกมเดียวกันให้ถือว่าลูกเปตองนั้นเป็นลูกฟาล์วและทุกสิ่งที่ถูกลูกเปตองทำให้เคลื่อนที่ไปจะต้องนำกลับมาวางไว้ที่เดิม
23.2 ก่อนการโยนลูกเปตองทุกครั้งผู้เล่นจะต้องทำความสะอาดลูกเปตองของตน มิให้มีสิ่งหนึ่งสิ่งใดติดอยู่ มิฉะนั้นจะถูกลงโทษตามที่กำหนดไว้ในข้อ 10.

ข้อ 24.
ลูกเปตองทุกลูกที่โยนไปผิดเงื่อนไขตามกติกาถือว่าเป็นลูกฟาล์ว และทุกสิ่งที่ถูกลูกเปตองทำให้เคลื่อนที่ไปจะต้องนำมาวางที่ตำแหน่งเดิม กฎนี้ให้ใช้สำหรับลูกเปตองที่ผู้เล่นยืนผิดวงกลมไม่ใช่วงกลมเดิมที่โยนลูกเป้าที่ถูกต้อง (ทีมที่โยนลูกเป้าต้องลบรอยขีดวงกลมเก่าที่อยู่บริเวณใกล้เคียงออกให้หมด)
ในกรณีเช่นนี้ ฝ่ายตรงกันข้ามมีสิทธิ์ปฏิบัติตามกฎว่าด้วยการได้เปรียบและยอมให้ลูกเปตองที่โยนไปนั้นเป็นลูกดีก็ได้ ถ้าเห็นว่าลูกของฝ่ายตนได้เปรียบคู่ต่อสู้

การวัดระยะและการวัดคะแนน
ข้อ 25.
ในการวัดคะแนนอนุญาตให้โยกย้ายลูกเปตองที่เกี่ยวข้องได้แต่ต้องทำเครื่องหมายที่มีตำแหน่งสิ่งนั้น ๆ ไว้ก่อนโยกย้าย เมื่อการวัดคะแนนเสร็จสิ้นลง ให้นำทุกสิ่งที่โยกย้ายไปนั้นกลับมาวางที่ตำแหน่งเดิมทั้งหมดถ้าสิ่งกีดขวางที่มีปัญหานั้นไม่อาจโยกย้ายได้ให้ใช้วงเวียนทำการวัด


ข้อ 26.
ในการวัดคะแนนระหว่างลูกเปตอง 2 ลูก ซึ่งอยู่ใกล้เคียงกันมาก ผู้เล่นคนหนึ่งได้วัดไปแล้ว และบอกว่าตนได้ ผู้เล่นฝ่ายตรงกันข้ามมีสิทธิ์ที่จะวัดใหม่ เพื่อความแน่ใจและถูกต้อง (ส่วนอุปกรณ์การวัดที่ต้องเป็นอุปกรณ์ที่ได้มาตรฐาน ห้ามวัดโดยการนับระยะเท้า ) เมื่อทั้งสองฝ่ายได้คะแนนแล้วหลายครั้งยังตกลงกันไม่ได้ต้องให้ผู้ตัดสินเป็นผู้วัดเพื่อตัดสิน และผลการตัดสินถือเป็นที่สิ้นสุด และหากผู้เล่นเป็นฝ่ายฝ่าฝืนกติกาข้อนี้ให้ผู้ตัดสินตักเตือน 1 ครั้ง หากยังฝ่าฝืนอีกให้ปรับเป็นแพ้

ข้อ 27.
เมื่อเสร็จสิ้นการแข่งขันแต่ละเที่ยวลูกเปตองทุกลูกที่ถูกนำออกก่อนการวัดคะแนน ให้ถือว่าเป็นลูกฟาล์วและไม่มีสิทธิ์โต้แย้งใด ๆ ทั้งสิ้น

ข้อ 28.
ถ้าผู้เล่นฝ่ายหนึ่งฝ่ายใดทำการวัดคะแนนแล้ว ไปทำให้ลูกเป้าหรือเปตองที่มีปัญหานั้นเคลื่อนที่ จะต้องเป็นฝ่ายเสียคะแนนนั้นและในการวัดแต่ละครั้งต้องให้ผู้เล่นของทีมที่ทำให้ลูกเปตองเกิดปัญหาทำการวัดทุกครั้ง ในการวัดคะแนนแต่ละครั้ง ก่อนทำการวัดผู้ตัดสินต้องทำการคาดคะเนเสียก่อนว่าลูกใดเปรียบและถ้าได้วัดไปแล้ว บังเอิญผู้ตัดสินไปทำให้เปตองหรือลูกเป้าเคลื่อนที่ผู้ตัดสินจะต้องทำการวัดใหม่ และภายหลังการวัดปรากฏว่าลูกเปตองที่คาดคะเนว่าชนะยังคงชนะอยู่ให้กรรมการตัดสินตามความเป็นจริงถ้าการวัดครั้งใหม่แล้วปรากฏว่าลูกเปตองที่คาดคะเนว่าจะชนะกลับแพ้ ให้ผู้ตัดสินตัดสินด้วยความเที่ยงธรรม

ข้อ 29.
ในกรณีที่ลูกเปตองของทั้งสองฝ่ายมีระยะห่างจากลูกเป้าเท่ากันหรือติดกับลูกเป้าทั้ง 2 ลูกให้ปฏิบัติตามกฎข้อย่อย ดังนี้
29.1 ถ้าทั้งสองฝ่ายหมดลูกเปตองเล่นแล้ว การเล่นเที่ยวนั้นถือว่าเป็นโมฆะ จะต้องเริ่มเล่นใหม่ด้านตรงข้าม โดยผู้เล่นฝ่ายที่ได้คะแนนในเที่ยวที่แล้ว เป็นผู้โยนลูกเป้า
29.2 ถ้าฝ่ายหนึ่งฝ่ายใดมีลูกเปตองเหลือเล่นอยู่เพียงฝ่ายเดียว ฝ่ายนั้นจะต้องเล่นจนหมดลูกเปตองเพื่อทำคะแนนเพิ่มเติมตามจำนวนลูกเปตองที่อยู่ใกล้เป้ามากที่สุด
29.3 ถ้าทั้งสองฝ่ายยังมีลูกเปตองเหลืออยู่ ฝ่ายที่โยนลูกเปตองทีหลังจะต้องเป็นฝ่ายเล่นลูกต่อไป ถ้าลูกเปตองทั้งสองฝ่ายยังเสมอกันอยู่ต้องเปลี่ยนให้อีกฝ่ายหนึ่งเป็นผู้เล่นและต้องสลับกันโยนฝ่ายละ 1 ลูก จนกว่าฝ่ายหนึ่งฝ่ายใดจะได้คะแนนแล้วเล่นต่อไปตามปกติ
ข้อ 30.
หากมีสิ่งหนึ่งสิ่งใดเกาะติดกับลูกเปตองหรือลูกเป้าจะต้องเอาสิ่งนั้นออกก่อนการวัดคะแนนทุกครั้ง

ข้อ 31.
การเสนอข้อประท้วงต่อผู้ตัดสินจะกระทำได้ในระหว่างการแข่งขันแต่ละเกมเท่านั้น เมื่อเกมการแข่งขันเท่านั้น เมื่อเกมการแข่งขันนั้น ๆ ได้สิ้นสุดลงจะไม่มีประท้วงใด ๆ ทั้งสิ้น
เพื่อประโยชน์ของฝ่ายตน ผู้เล่นทุกคนต้องคอยระมัดระวังการละเมิดกติกาของฝ่ายตรงข้ามบัตรประจำตัวนักกีฬา-รุ่นของผู้เล่นสนามแข่งขัน มาตรฐานของลูกเปตอง เป็นต้น

ข้อ 32.
ในขณะทำการจับสลากและการประกาศผลการจับสลาก ผู้เล่นทุกคนต้องอยู่พร้อมกันที่โต๊ะอำนวยการ หลังจากการประกาศผลไปแล้ว 15 นาที ทีมที่ไม่ลงสนามแข่งขันจะถูกปรับเสียคะแนนให้แก่ฝ่ายตรงข้าม 1 คะแนน
32.1 หากเกินกำหนดเวลา 15 นาทีไปแล้ว การปรับคะแนนจะทวีเพิ่มขึ้น 1 คะแนน ทุก ๆ 5 นาที
32.2 บทลงโทษตามข้อ 32 จะมีผลบังคับหลังจากการประกาศให้เริ่มการแข่งขันทุกครั้ง
32.3 หลังจากการประกาศการแข่งขันได้ผ่านพ้นไปแล้ว 1 ชั่วโมงทีมที่ยังไม่ได้ลงทำการแข่งขันจะถูกปรับให้เป็นผู้แพ้ในเกมนั้น
32.4 ทีมที่มีผู้เล่นไม่ครบจำนวน ต้องลงทำการแข่งขันตามเวลาที่กำหนดโดยไม่อนุญาตให้รอผู้ร่วมทีมที่มาล่าช้าและจะเล่นลูกเปตองได้ตามจำนวนที่ผู้เล่นมีสิทธิเท่านั้น (ตามประเภทที่แข่งขัน)

ข้อ 33.
เมื่อมีการแข่งขันในเที่ยวนั้นได้เริ่มเล่นไปแล้ว ผู้เล่นที่มาล่าช้าไม่มีสิทธิ์ลงเล่นในเที่ยวนั้น แต่อนุญาตให้ลงเล่นในเที่ยวต่อไปได้
33.1 เมื่อการแข่งขันในเกมนั้นได้ดำเนินไปแล้ว 1 ชั่วโมง ผู้เล่นที่มาล่าช้าหมดสิทธิ์ลงทำการแข่งขันในเกมนั้น
33.2 ถ้าการแข่งขันนั้นแบ่งเป็นสาย จะอนุญาตให้ผู้เล่นที่มาล่าช้าลงแข่งขันในเกมที่ 2 ได้ ไม่ว่าผลการแข่งขันในเกมแรกจะแพ้หรือชนะก็ตาม
33.3 หากทีมที่มีผู้เล่นไม่ครบจำนวนสามารถชนะการแข่งขันในเกมนั้นจะอนุญาตให้ผู้เล่นที่มาเล่นช้าลงแข่งขันในเกมต่อไปได้ แต่ต้องเป็นผู้เล่นของทีมนั้น และต้องมีชื่อถูกต้องในในสมัครด้วย
33.4 การแข่งขันแต่ละเที่ยวจะถือว่าเริ่มขึ้นแล้วก็ต่อเมื่อลูกเป้าที่โยนไปในสนามนั้น ได้ตำแหน่งถูกต้องตามกติกา

ข้อ 34.
การเปลี่ยนตัวผู้เล่นจะอนุญาตให้กระทำได้ก่อนจับสลากการแข่งขันเท่านั้น และต้องเป็นผู้เล่นที่ไม่มีรายชื่ออยู่ในทีมอื่นของการแข่งขันเดียวกัน

ข้อ 35.
ในระหว่างการแข่งขันหากมีฝนตก ให้แข่งขันต่อไปจนจบเที่ยวเว้นแต่มีเหตุผลสุดวิสัย ไม่สามารถแข่งขันต่อไปได้ ผู้ตัดสินและผู้ชี้ขาดเท่านั้นที่มีอำนาจให้หยุดการพักการแข่งขันชั่วคราวหรือยกเลิกการแข่งขัน
35.1 หลังจากการประกาศเพื่อเริ่มต้นการแข่งขันในรอบใหม่แล้ว รอบสองหรือรอบต่อ ๆ ไป หากยังมีบางทีมและบางสนามยังแข่งขันไม่เสร็จ ผู้ตัดสินอาจดำเนินการอย่างหนึ่งอย่างใดตามที่ดีตนเห็นสมควร ด้วยความเห็นชอบคณะกรรมการจัดการแข่งขันเพื่อให้การแข่งขันนั้นดำเนินไปด้วยดี
35.2 ในระหว่างการแข่งขัน ผู้เล่นทุกคนจะออกไปจากสนามต้องได้รับอนุญาตจากผู้ตัดสินเสียก่อน มิฉะนั้นจะถูกลงโทษตามที่กำหนดไว้ในข้อ 32. และ 33.

ข้อ 36.
ในการแข่งขันรอบชิงชนะเลิศ หรือรอบอื่น ๆ ก็ตาม ห้ามผู้เล่นทั้งสองฝ่ายสมยอมกันหรือแบ่งรางวัลกันโดยเด็ดขาด ถ้าผู้เล่นทั้งสองฝ่ายสมยอมกันหรือแบ่งรางวัลกันโดยเด็ดขาด ถ้าผู้เล่นทั้งสองฝ่ายแข่งขันกันไม่สมศักดิ์ศรี เป็นการหลอกลวงผู้ดู ผู้ควบคุมทีม และผู้เล่นทั้งสองทีมจะถูกลงโทษให้ออกจากการแข่งขัน และผลการแข่งขันที่ผ่านมาก่อนหน้านั้นก็ให้ถือโมฆะด้วย นอกจากนั้นแล้วผู้เล่นทั้งสองทีมจะต้องถูกพิจารณาลงโทษตามที่กำหนดไว้ข้อ 37. อีกด้วย

ข้อ 37.
ผู้เล่นที่มีพฤติกรรมอันเป็นการผิดมารยาทอย่างรุนแรงต่อผู้ควบคุมทีม ผู้ตัดสิน ผู้เล่นคน อื่น ๆ หรือผู้ดู จะถูกลงโทษตามสภาพความผิดดังนี้
ก. ให้ออกจากการแข่งขัน
ข. ถอนใบอนุญาต (บัตรประจำตัวนักกีฬา)
ค. งดให้รางวัลหรือเงินรางวัล
37.1 การลงโทษผู้เล่นที่กระทำผิดอาจมีผลถึงผู้ร่วมทีมด้วย
37.2 บทลงโทษ (ก) (ข) เป็นอำนาจของผู้ตัดสิน
37.3 บทลงโทษ (ค) เป็นอำนาจของคณะกรรมการจัดการแข่งขันที่ทำรายงาน และส่งรางวัลที่ยึดไว้นั้นให้สมาคมฯ ทราบภายใน 48 ชั่วโมง เพื่อพิจารณาตามที่เห็นสมควรต่อไป
37.4 การลงโทษทุกกรณี เป็นอำนาจของคณะกรรมการบริหารสมาคม ฯ ที่จะพิจารณาเป็นขั้นตอนสุดท้าย

ข้อ 38.
ผู้ตัดสินทุกคนที่ได้รับการแต่งตั้งจากสหพันธ์ฯ เปตองนานาชาติหรือสมาคมเปตองแห่งประเทศไทย ฯ มีหน้าที่คอยควบคุมดูแลให้การแข่งขันดำเนินไปอย่างมีระเบียบและถูกต้องตามกติกาอย่างเคร่งครัด และมีอำนาจให้ผู้เล่นทุกคน หรือทุกทีมที่ปฏิเสธไม่ปฏิบัติตามคำตัดสินออกจากการแข่งขันได้
38.1 หากมีผู้ซึ่งเป็นนักกีฬาในสังกัดสหพันธ์ฯ เป็นต้นเหตุทำให้เกิดการจลาจลในสนาม แข่งขัน ผู้ตัดสินจะต้องรายงานให้สหพันธ์ฯ ทราบ ทาสหพันธ์ฯ จะได้เรียกตัวผู้กระทำผิดนั้นมาชี้แจงต่อคณะกรรมการระเบียบวินัยเพื่อพิจารณาลงโทษต่อไป

ข้อ 39.
หากกรณีอื่นใดที่มิได้กำหนดไว้ในกติกาข้อนี้เป็นหน้าที่ของผู้ตัดสินที่จะต้องขอความร่วมมือจากคณะกรรมการชี้ขาดการแข่งขันครั้งนั้นเพื่อพิจารณาตัดสินผู้ชี้ขาดตามสมควรแก่กรณี (คณะกรรมการชี้ขาดประกอบด้วยกรรมการ 3 หรือ 5 คน)
39.1 การชี้ขาดของคณะกรรมการ ผู้ตัดสินชี้ขาดถือเป็นการสิ้นสุด ในกรณีมีเสียงเท่ากันให้ประธานกรรมการผู้ตัดสินชี้ขาดเป็นผู้ชี้ขาด
39.2 ผู้เล่นทุกคนจะต้องแต่งกายให้เรียบร้อย การไม่สวมเสื้อไม่สวมรองเท้า ถือว่ามีความผิด ผู้เล่นที่ฝ่าฝืนไม่ปฏิบัติตามกฎนี้ ถ้าผู้ตัดสินตักเตือน 1 ครั้ง และหากยังเพิกเฉยฝ่าฝืนอีก จะถูกลงโทษให้ออกจากการแข่งขัน



ไม่มีความคิดเห็น: